โรคปริทันต์

โรคปริทันต์ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ แต่จริงๆแล้ว โรคปริทันต์ มิได้มีการอักเสบเกิดขึ้นแค่ที่เหงือกเท่านั้น แต่เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะรอบตัวฟันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับรากฟัน เคลือบรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน การทำลายอวัยวะรอบตัวฟันดังกล่าว หากมีการสูญเสียไปแล้วจะเป็นการสูญเสียที่ถาวรไม่สามารถกลับคืนมาได้ ลองนึกภาพหากเราสูญเสียสิ่งที่ยึดจับตัวฟันไปแล้ว ฟันนั้นก็จะไม่สามารถอยู่ในช่องปากได้อย่างแข็งแรง อาจมีการโยก หรือต้องถอนฟันไป ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดเลย
ปริทันต์การทำลายของอวัยวะมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพออายุมากจึงมักพบฟันโยกเป็นหนอง แล้วต้องมาถอนฟันและใส่ฟันปลอม เราลองมาดูข้อสังเกต อาการของโรคตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองและตัดสินใจมาพบทันตแพทย์ เพื่อป้องกันฟันให้อยู่กับเราได้นานที่สุด
สาเหตุเบื้องต้น คือ คราบเชื้อโรคเมื่อเกาะบนผิวฟันนานๆกลายเป็นคราบหินปูน เมื่อมีคราบหินปูนก็เป็นที่สะสมของคราบเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น เมื่อคราบหินปูนและแบคทีเรียสะสมมากขึ้นและนานขึ้น จะเพิ่มปริมาณลึกลงไปใต้ขอบเหงือก ทำให้การอักเสบลุกลามลงไปยังอวัยวะปริทันต์ทั้งหมด จึงเกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ตามมา
อาการของเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
- เหงือกมีสีแดง บวม เหงือกไม่รัดแน่นคอฟันและเลือดออกง่าย (เหงือกปกติควรมีสีชมพูซีด รัดแน่นคอฟัน และแปรงฟันเลือดไม่ออก)
- อาจเห็นตัวฟันยาวมากกว่าเดิมเพราะมีเหงือกร่น
- มีฟันโยก
- มีกลิ่นปาก
- มีอาการไม่สบายปาก ระคายเคืองเหงือก หรือมีอาการปวดรำคาญ
- หากเป็นมากมีร่องเหงือกลึก อาจมีหนองที่เหงือกเป็นๆ หายๆ ได้
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : รักษารากฟันที่ติดเชื้อ (คลิก)