ผ่าฟันคุด

จากที่เคยเรียนมาตอนเด็กว่า ฟันแท้มี 32 ซี่ แต่ใครเคยนับฟันตัวเองจริงๆไหมว่า มีฟันแท้กี่ซี่ในช่องปาก ไม่นับคนที่มีฟันผุมาก หรือฟันเป็นโรค แล้วต้องถอนฟันไปแล้วนะคะ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะมีฟันแท้ในช่องปากแค่ 28 ซี่ เท่านั้น นอกจากคนขากรรไกรใหญ่หรือกว้างจะสามารถมีฟันขึ้นครบได้ 32 ซี่ ตามที่เรียนมา อีก4 ซี่ คือฟันกรามซี่ที่สาม อาจโผล่มาได้บ้างหรือไม่โผล่ออกมาเลยก็ได้ เรียกว่าฟันคุด ฟันคุดนี้มักจะมีแรงดันในการขึ้นเมื่อคนเราอายุประมาณ 17-25 ปี จึงนับว่าเป็นโรคฮิตของวัยรุ่นทีเดียว ถ้าโชคดี ขึ้นมาในช่องปากได้มาก ก็อาจถอนฟันปกติได้ แต่ส่วนใหญ่ต้องผ่าเอาฟันคุดออก ซึ่งความจริงคำว่าผ่าฟันคุด ก็ไม่ถึงกับผ่าตัดอะไรที่ต้องถึงกับนอนโรงพยาบาล สามารถทำบนเก้าอี้ทำฟันโดยใช้ยาชาตามปกติได้ การผ่าตัดฟันคุดนี้จะใช้เวลาการทำนานกว่าถอนฟันปกติ และมีกรรมวิธียุ่งยากกว่า สุดแล้วแต่ตำแหน่งของฟันคุดนั้นๆว่าลึกมากน้อยแค่ไหน มีท่าทางอย่างไร ซึ่งก็มีตั้งแต่ ท่าตรงๆ, เอียงๆมาทางด้านหน้า เอาหัวเอียงมาซบฟันด้านหน้าซี่ที่ติดกันน้อยๆ, เอียงซบฟันซี่ที่ติดกันมากขึ้นตามลำดับจนตั้งฉากกับฟันซี่ที่ติดกันเลยก็มี ค่ะ หรือที่ร้ายๆกว่านั้นคือเอียงหัวไปคนละทางกับฟันซี่ติดกัน
หลังผ่าฟันคุด อาการที่เกิดขึ้นได้และถือว่าปกติ คือ
อาการปวดแผลผ่าตัด ซึ่งต้องทานยาแก้ปวดเช่นเดียวกับการถอนฟันตามปกติ
อาการบวมของใบหน้าข้างที่ทำการผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดทั่วไปที่อาจมีการบวมอยู่ประมาณ 2-3 วันแรก และอาการบวมจะค่อยๆลดลงจนกลับมาปกติ
บริเวณแก้มอาจมีอาการช้ำ ซึ่งจะหายไปได้เอง
โดยปกติแล้วคนไข้มักไม่ต้องหยุดเรียนหรือหยุดงานในวันถัดไป หลังจากผ่าตัดฟันคุดแล้ว แนะนำให้บริหารขากรรไกรโดยให้พยายามให้อ้าปากให้กว้างเท่าเดิม และแปรงฟันในบริเวณใกล้เคียงกับแผลผ่าฟันคุดให้สะอาด เพื่อลดการเกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์และเศษอาหาร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้แผลผ่าฟันคุดอักเสบตามมาได้ ไม่ต้องกลัวจะเจ็บนะคะ อีก 7 วันก็มาพบทันตแพทย์อีกครั้งเพื่อดูแผลผ่าตัดและตัดไหมค่ะ
ลักษณะแผลผ่าตัดฟันคุด
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการผ่าฟันคุด ได้แก่
- อาการติดเชื้อหลังผ่าตัด มักพบในกรณีที่ฟันคุดอยู่ลึก ใช้เวลาในการทำนาน หรือคนไข้ไม่ดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัด
- แพ้ยาที่ใช้รับประทาน อาจเพื่อแก้ปวด, แก้อักเสบ หรือลดบวม ควรหยุดยาและรีบกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว
- เลือดออกเยอะ ซึ่งคงต้องดูเป็นกรณีไปเช่น ฟันคุดอยู่ใกล้เส้นเลือดมาก หรือไหมที่เย็บไว้อาจจะหลุดเป็นต้น ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์
- อาการชาริมฝีปาก หลังผ่าตัด เนื่องจากฟันคุดอยู่ใกล้หรือรากของฟันคุดเกี่ยวอยู่กับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟัน
ผลเสียของการไม่เอาฟันคุดออกในอายุอันควรคือ
- อาจเกิดการติดเชื้อแบบฉับพลัน หรือติดเชื้อแบบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ซึ่งคงไม่เป็นการดีที่จะปล่อยหนองหรือการอักเสบนั้นทิ้งไว้
- ฟันคุดถ้าฝังอยู่ในขากรรไกรมักมีถุงหุ้มฟันอยู่ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นถุงน้ำได้หากเก็บไว้
- ปวดฟัน
- ฟันซี่ที่ติดกันผุและอาจเสียหายไปด้วย เพราะฟันคุดเอียงมาชนทำให้ยากต่อการทำความสะอาด
- เป็นจุดอ่อนของขากรรไกรกรณีได้รับอุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดขากรรไกรหักได้
- ถ้าเราอยากรู้ว่ามีฟันคุดหรือไม่ สามารถไปพบทันตแพทย์เพื่อถ่ายภาพรังสีเช็คดูเมื่อถึงอายุที่สมควร หรือทันตแพทย์อาจพิจารณาถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจกรณีที่สงสัยว่าจะมีฟันคุดค่ะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ทำไมต้องผ่าฟันคุด (คลิก)